คำถามที่พบบ่อย

Q : คุณหมอครับ ผมอยากทราบว่าการจัดฟันคืออะไรครับ
A : อ๋อ การจัดฟันเป็นการรักษาความผิดปกติของการเรียงตัวของฟัน เช่น ฟันซ้อนเก ฟันห่าง ฟันบิดเอียง เป็นต้น รวมทั้งการแก้ไขการสบฟันผิดปกติ ตลอดจนความผิดปกติของขากรรมไกรด้วย เช่น การสบฟันยื่น การสบฟันลึก และการสบฟันแบบฟันหน้าล่างคร่อมฟันหน้าบน รวมทั้งความผิดปกติของขากรรไกรโดยขากรรไกรบนยื่นมากเกินไป หรือขากรรไกรล่างยื่นมากเกินไป พอเข้าใจมั้ยครับ
Q : คุณหมอครับ หนูอยากรู้ว่าจัดฟันไปทำไมครับ
A : น้องถามเก่งจังเลย เมื่อเราจัดฟันแก้ไขฟันห่าง ฟันบิดเอียง หรือทำให้การสบฟันดีขึ้นและเป็นปกติ ทำให้เราบดเคี้ยวอาหารได้ละเอียดและทำให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานได้อย่างปกติ รวมทั้งจะสามารถป้องกันฟันผุ หรือเหงือกอักเสบได้ด้วยและทำให้แปรงฟันทำความสะอาดฟันและเหงือกได้ดี ฟันดูสวยงาม และสำคัญที่สุดคือ ช่วยให้มีบุคลิกภาพดีขึ้น
Q : คุณหมอครับ เพื่อนของผมอยากจะจัดฟัน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร คุณหมอช่วยอธิบายว่าเราจะต้องเริ่มต้นอย่างไร และมีขั้นตอนอะไรบ้างครับ
A : น้องก็ต้องบอกเพื่อนให้ไปหาทันตแพทย์ตรวจฟันและสุขภาพช่องปาก และควรได้รับคำปรึกษาจากหมอจัดฟัน เพื่อให้คุณหมอจัดฟันได้อธิบายแผนการรักษา ในกรณีที่มีการสบฟันผิดปกติ อาจต้องถ่ายภาพรังสี เอกซเรย์ฟัน และพิมพ์แบบฟัน เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและวางแผนการรักษาต่อไป
Q : แล้วขั้นตอนต่อไป คืออะไรครับ คุณหมอครับ
A : เมื่อคุณหมอจัดฟันได้ตรวจฟัน การสบฟัน พิมพ์แบบฟัน และถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ฟันแล้ว คุณหมอจัดฟันจะนำไปวิเคราะห์และวางแผนการรักษาและนำข้อสรุปมาอธิบายให้เพื่อนของน้องได้ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรดังนี้
1. กรณีที่เป็นฟันน้ำนม หรือฟันชุดผสม (ฟันน้ำนมผสมกับฟันแท้) ต้องตรวจฟันเป็นระยะๆ เพื่อดูการขึ้นของฟันแท้ หรือดูพัฒนาการของการสบฟันว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อโตขึ้น อาจจะตรวจเป็นระยะๆ โดยไม่ต้องจัดฟัน หรืออาจจะจัดฟันเพื่อแก้ไขความผิดปกติเบื้องต้น โดยการจัดฟันแบบง่ายๆ ไปก่อน
2. กรณีที่มีความผิดปกติมากขึ้น เช่น ฟันซ้อนเกมาก ฟันยื่นมาก หรือขากรรไกรยื่นมากผิดปกติ คุณหมอจัดฟันจะใส่เครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขความผิดปกติเหล่านั้น
3. บางกรณีที่มีความผิดปกติอย่างมากๆ อาจจะต้องมีการถอนฟันโดยอาจจะถอนฟันน้ำนมหรือถอนฟันแท้บางซี่ ร่วมกับการใส่เครื่องมือจัดฟันเพื่อแก้ไขความผิดปกตินั้นๆ
Q : คุณหมอครับ แล้วอายุเท่าไรถึงจะเริ่มจัดฟันได้ครับ
A : จริงๆ แล้ว เราสามารถเริ่มจัดฟันได้ตั้งแต่ระยะฟันน้ำนม ถ้ามีความผิดปกติของฟันหรือการสบฟันผิดปกติ เพื่อแก้ไขการเจริญเติบโตของฟันและกระดูกรองรับฟัน ขากรรไกร และใบหน้า เพื่อให้กลับคืนสู่ลักษณะการเจริญเติบโตที่ปกติ
* แต่โดยทั่วไปแล้ว เด็กส่วนใหญ่จะพร้อมจัดฟันเมื่อเข้าสู่ระยะฟันชุดผสมเมื่อประมาณ 10 - 12 ปี
Q : แล้วการจัดฟันต้องใช้เวลานานมั๊ยครับ
A : การจัดฟันมีทั้งแบบเครื่องมือชนิดถอดได้และเครื่องมือชนิดติดแน่น เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ ใช้กับการแก้ไขความผิดปกติเล็กน้อย เช่น ฟันซ้อนเกเล็กน้อย ฟันห่างเล็กน้อย ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน อาจจะใช้เวลาประมาณ 6 - 8 เดือน แต่สำหรับคนที่ฟันซ้อนเกมากๆ ฟันยื่นมากๆ ต้องใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น โดยใช้เวลาในการจัดฟันนานขึ้น ประมาณ 2 - 3 ปี อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของผู้ป่วยมีผลต่อการรักษา และมีผลต่อระยะเวลาในการจัดฟันเป็นอย่างมาก ถ้าความร่วมมือดี การจัดฟันจะได้ผลดี ใช้เวลาจัดฟันในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ไปพบทันตแพทย์ตามที่คุณหมอนัดไว้การจัดฟันอาจได้ผลไม่สมบูรณ์ และจะใช้เวลาจัดฟันมากขึ้น
Q : ทำไมบางคนจัดฟันตั้งหลายปีแล้ว ยังไม่เสร็จซักที ครับ
A : อ๋อ เพราะว่าบางคนมีการสบฟันผิดปกติ หรือขากรรไกรผิดปกติมากกว่าคนอื่น หรือมีนิสัยที่ผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อของปากและฟัน เช่น มีนิสัยลิ้นดุนฟัน นอนกัดฟัน หรือชอบกัดริมฝีปากโดยไม่รู้ตัว หรือการไม่ไปให้คุณหมอจัดฟันตรวจรักษาตามนัด ก็มีผลทำให้การรักษานานมากว่าที่กำหนดไว้ครับ
Q : การจัดฟันเป็นแฟชั่นสำหรับวัยรุ่นหรือเปล่า ครับ
A : คำถามนี้สำคัญเลยทีเดียวนะน้อง ต้องบอกต่อให้เพื่อนๆ รู้ด้วยนะครับว่า การจัดฟันไม่ใช่แฟชั่น การจัดฟันเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีปัญหาการสบฟันผิดปกติ แต่มีวัยรุ่นบางคนชอบสีสันของเครื่องมือจัดฟันหรือเห็นยางรัดเหล็กจัดฟันเป็นเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรนะครับ เพราะอาจเกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ และอาจติดเชื้อในช่องปากได้

สาระน่ารู้

ในการจัดฟัน ทำไมต้องมีการถอนฟัน
ในกรณีที่ฟันซ้อนเกมากหรือฟันยื่นมาก การถอนฟันจะทำให้มีช่องว่างเพื่อที่จะเรียงฟันที่ซ้อนเก และ/หรือ ดึงฟันเข้าเพื่อลดความยื่น โดยช่องที่เกิดจากการถอนฟัน เมื่อจัดฟันเสร็จควรจะถูกใช้หมดโดยไม่เหลือช่องห่าง ฟันที่มักถูกถอนเพื่อประโยชน์ในการจัดฟันมักเป็นฟันกรามน้อยที่อยู่หลังฟันเขี้ยว อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีลักษณะการสบฟันบ่งชี้ให้ถอนฟันตำแหน่งหนึ่ง แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนซี่ที่จะถอนตามแผนการรักษาเป็นการถอนฟันซี่อื่นที่มีปัญหาแทน เช่น ฟันที่ผุมาก ฟันที่มีวัสดุอุดใหญ่ หรือฟันที่มีรูปร่างผิดปกติ เพื่อเก็บฟันที่ดีที่สุดไว้ แต่ทั้งนี้การรักษาอาจจะยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลายางนานขึ้นกว่าปกติ หรืออาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษเพิ่มในการรักษา หรือในทางตรงข้าม ทันตแพทย์จัดฟันอาจจำเป็นต้องถอนฟันปกติ โดยเก็บฟันที่มีวัสดุอุดไว้แทน ขึ้นกับความเหมาะสม โดยทันตแพทย์จัดฟันจะอธิบายแผนการรักษาเป็นรายๆ ไป
ยิ้มเห็นเหงือกมาก ทำอย่างไร
รักษาตามสาเหตุ เช่น
1. เกิดจากฟันบนที่ยื่น อูม สามารถจัดฟันแก้ไขเพื่อให้ปิดปากได้ดีขึ้น และลดปริมาณยิ้มเหงือกได้บ้าง
2. ในกรณีที่เหงือกคลุมฟันมาก เห็นฟันหน้าบนสั้น แก้ไขโดยผ่าตัดร่นเหงือกให้เห็นฟันยาวขึ้น
3. ขากรรไกรบนยาวและยื่นมาข้างหน้า ควรแก้ไขผ่าตัดขากรรไกร ต้องปรึกษาทันตแพทย์จัดฟันอย่างละเอียด
4. ริมฝีปากบนสั้น อาจผ่าตัดริมฝีปากให้ยาวขึ้น
ฟันซี่หน้าไม่ดี ไม่สวยจะถอนออกได้ไหม และระยะเวลาการจัดจะนานกว่าปกติไหม
บางกรณีฟันหน้าซี่ข้างอาจมีรูปร่างเล็กผิดปกติ และบางครั้งซี่ตำแหน่งเดียวกันด้านตรงข้ามอาจหายไปแต่กำเนิด เมื่อจะจัดฟันร่วมกับการถอนฟันเพื่อลดอาการฟันเกหรือฟันยื่น และจัดฟันเพื่อปิดช่องว่างด้านที่ฟันหาย มาแต่กำเนิดโดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม อาจพิจารณาถอนฟันที่เล็กผิดปกติ ซึ่งถ้าฟันเขี้ยวมีขนาดและสีที่เหมาะสม ทันตแพทย์จะปรับแต่งฟันเขี้ยวให้มีรูปร่างเหมือนฟันหน้าและจัดให้ฟันเขี้ยวมาอยู่แทนที่
การตะไบฟันในการจัดฟันคืออะไร
การตะไบฟันคือการลดขนาดหรือตกแต่งรูปร่างฟัน โดยตะไบด้านข้างของฟันบริเวณเคลือบฟันออกเล็กน้อย ด้วยกระดาษทรายสำหรับขัดฟัน หรือหัวกรอ ใช้ในกรณีที่ฟันเกไม่มาก เพื่อลดขนาดฟันในการแก้ฟันเก นอกจากนี้การตะไบฟันจะใช้ในกรณีที่ฟันบางซี่ โดยเฉพาะฟันหน้า มีรูปร่างฟันไม่สมส่วน หรืออาจใช้ในกรณีตกแต่งรูปร่างฟันหน้าล่างเพื่อให้มีด้านประชิดฟันที่กว้างขึ้น ลดการเหลื่อมซ้อนกันของฟันในอนาคต
ฟันล้มเพราะถอนฟันไปนานแล้วจะจัดฟันได้ไหม
จัดได้ เพราะการจัดฟันสามารถช่วยตั้งฟันที่ล้มขึ้นมาได้ เพื่อให้ใส่ฟันปลอมบริเวณที่เคยถอนฟัน และช่วยแก้ไขฟันยื่นยาวในกรณีที่ฟันบนห้อยยาวลงมามากในช่องที่ฟันล้ม ทั้งนี้ต้องมีการปรึกษาร่วมกันระหว่างทันตแพทย์จัดฟันและทันตแพทย์ที่จะทำฟันปลอม
ฟันที่รักษารากและครอบฟันแล้วสามารถจัดฟันได้หรือไม่
ทำไมจะไม่ได้ล่ะ ถ้ารักษารากฟันแล้วการอักเสบที่ปลายรากฟันหายดีและมีเอ็นยึดรากฟันและกระดูกอยู่ปกติ แม้ว่าจะไม่มีประสาทฟันแล้วก็ตาม เพราะการเคลื่อนที่ของฟันอาศัยเพียงการเปลี่ยนแปลงบริเวณเอ็นยึดรากฟัน และกระดูกรอบรากฟันเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวล
ลวดจัดฟันทำมาจากโลหะอะไร
ลวดที่นิยมใช้มี 2 แบบ คือ
1.ลวดสเตนเลส แข็งแรง ไม่บิดงอง่าย ดัดขึ้นรูปได้ และมีความฝืดต่ำในการเคลื่อนผ่านช่องเครื่องมือ (แบร็กเก็ต)
2.ลวดโลหะผสมไทเทเนียม มีความนิ่ม โค้งงอได้และกลับคืนรูปได้เหมือนเดิม จึงนิยมใช้ลวดนี้ในช่วงแรกของการจัดฟันที่ฟันยังเกอยู่มาก
สีสันบนลวดจัดฟันคืออะไร
การยึดลวดจัดฟันไว้ในแบร็กเก็ตอาจใช้ลวดเส้นเล็กๆ (ligature wire) หรือใช้ยางรัดลวดจัดฟัน (0-ring) ซึ่งมีสีสันต่างๆ เพื่อยึดลวดจัดฟันไว้ ทว่าสีสันที่แตกต่างไม่มีผลต่อการรักษาใดๆ
หนังยางดึงฟันใช้ทำอะไร
หนังยางดึงฟัน หรือ elastic จะช่วยให้ฟันเลื่อนเข้าที่ได้รวดเร็ว ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีใส่หนังยาง ทิศทางและตำแหน่งของหนังยางและระยะเวลาการใส่ ว่าใส่ตลอดเวลาหรือใส่เฉพาะบางเวลา ที่สำคัญก็คือ ควรเปลี่ยนหนังยางทุก 12-24 ชั่วโมง เพราะยางจะล้า หมดแรงดึงควรใส่หนังยางคืนทันทีหลังรับประทานอาหาร และหลังทำความสะอาดฟัน ถ้าใส่เป็นเวลานานอาจรู้สึกเจ็บๆ หรือฟันโยกเล็กน้อย แต่ไม่ต้องกังวล เพราะถือเป็นอาการปกติ
ลวดทิ่มแก้มหรือเหงือกทำอย่างไร
กรณีไม่เจ็บมากใช้ขี้ผึ้งจัดฟันปิดปลายลวดที่คมไว้ และนัดทันตแพทย์ให้แก้ไขต่อไป หากเจ็บมากให้ไปพบทันตแพทย์ทันที